วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มอม : เพื่อนตายต่างสายพันธุ์

ใครบางคนเฝ้าตามหามิตรแท้มาทั้งชีวิต มิตรแท้ในอุดมคติของใครหลายคนคือเพื่อนที่จริงใจ ยอมตายแทนกันได้ แต่บางครั้งคนเราก็มักมองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวไป ทำให้มองไม่เห็นว่ามิตรแท้ที่เฝ้าตามหานั้นอาจจะนั่งกระดิกหางอยู่ข้างๆคุณก็เป็นได้...คุณเชื่อหรือไม่ว่า “สุนัข”เป็นสหายผู้ซื่อสัตย์และผูกพันกับเจ้านายของมันมากอย่างที่คุณอาจคาดไม่ถึง

เรื่องสั้นเรื่อง "มอม" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถ่ายทอดความผูกพันระหว่างสุนัขกับเจ้านายได้อย่างชัดเจน "มอม" เป็นเรื่องที่กินใจ เหตุการณ์หลายช่วงกระทบใจผู้อ่านมาก แม้แต่คนที่ไม่เคยเลี้ยงสัตว์ก็ยังซาบซึ้งกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะผู้เขียนสร้างตัวละคร สร้างเหตุการณ์ และบรรยายความรู้สึกต่างๆได้อย่างสมบูรณ์

“มอม” เป็นเพียงเรื่องธรรมดาๆของสุนัขตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่กับนายอย่างปกติสุข จนกระทั่งวันหนึ่งที่ทั้งคู่ต้องพลัดพรากจากกันเพราะเหตุสงคราม อีกทั้งยังมีเหตุการณ์เลวร้ายมากมายที่ถาโถมเข้ามามอมสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง กลายเป็นสุนัขเร่ร่อน จนได้คนใจบุญเก็บไปเลี้ยง และบังเอิญได้พบกับนายคนเดิมอีกครั้ง เหตุบังเอิญนี้เป็นจุดสูงสุด (climax) ของเรื่อง เมื่อนายได้พบมอม นายก็ล้มเลิกความคิดที่จะเป็นขโมยและทั้งคู่ก็กลับมาอยู่ด้วยกัน เรื่องนี้ดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลาตั้งแต่มอมเกิด เติบโต พลัดพรากจากนาย ได้พบนายใหม่ และกลับไปอยู่กับนายคนเดิมอีกครั้ง แม้ว่าจะ เป็นเพียงเรื่องของมิตรภาพระหว่างชายนิรนามกับสหายสี่ขาที่ดูไม่มีอะไรซับซ้อน แต่โครงเรื่องที่เรียบง่ายเช่นนี้กลับทำให้เรื่องน่าสนใจ เพราะผู้อ่านจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละคร และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมอมกับนายอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังแสดงลักษณะนิสัยอันโดดเด่นประการหนึ่งของสุนัขก็คือความซื่อสัตย์ เพราะไม่ว่านายจะอยู่กับมอมหรือไม่ มันก็ยังคงรักนายและเชื่อฟังคำของนายเสมอ อีกทั้งเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบยังนำเสนออย่างกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ไม่ทำให้ผู้อ่านเกิดความเบื่อหน่าย นับเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเรื่อง มีเหตุการณ์บางตอนที่ผู้เขียนใช้การเกริ่นการณ์ (foreshadow) ทำให้ผู้อ่านสามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ เช่น ก่อนที่นายผู้หญิงและหนูจะตาย คืนนั้นมอมมีลางสังหรณ์ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น คือ “คืนวันหนึ่งมอมรู้สึกร้อนรนและตื่นเต้น เหมือนกับว่ามีสิ่งใดบอกมันว่าภัยกำลังใกล้เข้ามา” (หน้า 118) ตามปกติเมื่อมอมได้ยินเสียงเครื่องบินแม้ว่ามันจะตกใจกลัวแต่มันก็ไม่ได้รู้สึกร้อนรนเท่านี้

ตัวละครหลักของเรื่อง คือ สุนัขชื่อมอม มอมเป็นสุนัขที่กตัญญู เพราะเมื่อมอมไปอยู่กับคุณแต๋ว แม้ว่ามอมจะไม่ได้รักคุณแต๋วเหมือนที่มอมรักนาย แต่คุณแต๋วก็เป็นผู้ที่มีบุญคุณต่อมัน มันก็ทดแทนบุญคุณด้วยการช่วยเฝ้าบ้าน ถึงแม้ว่ามอมจะมีชีวิตที่สุขสบายเมื่ออยู่กับคุณแต๋ว แต่มอมก็ยังคงภักดีกับนายอยู่เสมอ เช่นตอนที่นายจะไปเป็นทหาร “ มอมครางออกมาเบาๆเหมือนกับจะอุทานความในใจของมันให้คนรู้ว่า ชีวิตของมอมนั้นสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วาระที่นายออกจากบ้านไป และจะเป็นอยู่เช่นนั้นจนกว่านายจะกลับมาอีก” (หน้า 110) เหตุการณ์ตอนนี้แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ของมอม นอกจากนี้มอมยังเป็นตัวละครที่เหมาะสมในการถ่ายทอดสารในประเด็นเรื่อง "ความอบอุ่นและมิตรภาพข้ามสายพันธุ์ (ที่อยู่เหนือกาลเวลา)" อีกด้วย เพราะความรักของมอมนั้นเป็นความรักที่ปราศจากเงื่อนไขใดๆ

ด้านการเล่าเรื่อง ผู้เขียนเป็นผู้เล่าเรื่องผ่านสายตาตัวละครหลักคือมอม แม้ว่าผู้เขียนจะล่วงรู้จิตใจของมอม แต่ก็จำกัดเฉพาะในมุมมองของมอมที่เป็นสุนัขจึงนับว่าสมจริง เพราะสุนัขย่อมไม่เข้าใจพฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์ เช่น "มอมสังเกตเห็นนายแต่งตัวผิดไปกว่าแต่ก่อน คือนายแต่งตัวสีกากีแกมเขียว ใส่หมวกสีเดียวกัน มีอะไรสีทองติดที่หน้าหมวก" (หน้า 107) กรณีนี้แม้ว่ามอมจะมองเห็นแต่ก็ไม่รู้ว่านายไปเป็นทหาร ยิ่งไปกว่านั้นกลวิธีการเล่าแบบนี้ยังช่วยพรรณนาความรู้สึกของมอม และสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้อ่านอีกด้วย เช่น ตอนที่มอมพบศพนายผู้หญิงและหนู "...ในที่สุดมอมก็ได้เห็นนายผู้หญิงนอนเหยียดยาวเหมือนดังหลับอยู่ใต้กองดินในหลุม หนูนอนนิ่งอยู่ในอ้อมแขนของแม่ มอมมันโจนลงไปในหลุมคร่อมนายผู้หญิงไว้ ใครเข้ามาใกล้ก็ไม่ยอม...คนทั้งโลกเป็นศัตรู คนเหล่านี้ที่ทำให้นายต้องจากไป..." (หน้า 120) หากมองผ่านมุมมองของตัวละครตัวอื่น หรือใช้กลวิธีอื่นในการเล่าผู้อ่านก็อาจจะไม่รู้สึกซาบซึ้งหรือสะเทือนใจได้ขนาดนี้ เพราะคนอ่านย่อมเข้าใจดีว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น แต่มอมไม่สามารถเข้าใจได้เหมือนมนุษย์ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเห็นใจมอม

ด้านการใช้ภาษา จะเห็นว่าผู้เขียนเลือกใช้การซ้ำคำเพื่อเน้นย้ำอารมณ์ความรู้สึก เช่น "แต่แล้วมันก็หมดแรงต้องค่อยๆตะกายกลับบ้าน บ้านที่ไม่มีเรือน บ้านที่รั้วพังจนหมดเหลือแต่ซากของประตู บ้านที่ไม่มีนาย ไม่มีนายผู้หญิง ไม่มีหนู บ้านที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเหลืออีกต่อไป (หน้า 121)" เป็นต้น และบางครั้งก็จงใจเลือกใช้คำที่เกินระดับของมอมเพื่อสร้างความขบขัน เช่น "ที่มอมปฏิสนธิได้ก็เพราะอุปัทวเหตุ" (หน้า 99) หรือ "การถ่ายปัสสาวะรดที่ตัวอื่นทำไว้แล้ว จึงเป็นอนันตริยกรรมของสุนัข อภัยให้กันไม่ได้" (หน้า 102) ส่วนโวหารในเรื่องส่วนใหญ่เป็นบรรยายโวหาร และพรรณนาโวหารซึ่งช่วยสร้างอารมณ์และจินตภาพ แต่ว่าการใช้ภาษาในเรื่องนี้ก็ไม่ได้ดีเด่นในด้านวรรณศิลป์ และไม่โดดเด่นเท่าองค์ประกอบอื่นๆ

เรื่อง“มอม” ได้จำลองภาพเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ฉากในกรุงเทพมหานคร บริเวณถนนเพชรบุรีถึงถนนราชวิถี ฉากจึงเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เรื่องดูสมจริงมาก ผู้อ่านที่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกได้มาก และหวนระลึกถึงสงครามในอดีต

องค์ประกอบทั้งหมดนำไปสู่แก่นเรื่องได้เป็นอย่างดี ในตอนท้ายที่ผู้เขียนบรรยายไว้ว่า "...ชายคนหนึ่งรูปร่างสูงผอมเสื้อผ้าขาดวิ่น เดินช้าๆอยู่ข้างถนนอย่างอ่อนระโหยโรยแรง ข้างๆตัวมีหมาตัวผู้งามตัวหนึ่ง ปากคาบกิ่งไม้ คอตั้งหางเชิดวิ่งตามเขาไปด้วยความเบิกบานสุดขีด" (หน้า 128) สะท้อนให้เห็นความรักของมอมที่มีต่อนายอย่างไม่เสื่อมคลาย เพราะความรักของมอมไม่ได้มาจาก "อารมณ์" หรือ "เหตุผล" แต่เป็นรักที่มาจาก "ความศรัทธา" มอมไม่ได้มองนายของตนเป็นเพียงเจ้านายเท่านั้น แต่นายคือชีวิต คือลมหายใจ คือทุกสิ่งทุกอย่างของมอม สัมพันธ์กับแก่นเรื่องที่ว่า "ความรักของสัตว์เลี้ยงที่มีต่อเจ้าของเป็นความรักที่ปราศจากเงื่อนไข บริสุทธิ์ ยิ่งใหญ่ และยั่งยืน" แม้ในท้ายที่สุดนายของมอมจะสูญเสียครอบครัว หรือสิ่งอันเป็นเครื่องแสดงความภาคภูมิในฐานะมนุษย์ (อย่างทรัพย์สินเงินทอง หน้าที่การงาน) ไปหมดสิ้น แต่อย่างน้อยเขาก็โชคดีที่ได้พบเพื่อนแท้ เพื่อนตายอันเป็นความสุขที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์แล้วมิใช่หรือ?


1 ความคิดเห็น:

  1. ตั้งชื่อบทความคล้ายโฆษณาเลย วิจารณ์ได้ดีมาก รายละเอียดของฉากน่าสนใจถ้าจะขยายความอีกนิด โยงเข้าสู่องค์ประกอบอื่นๆ ด้วยจะดีมาก ใช้ภาษาในการวิจารณ์ได้ดี มีการประเมินค่าแต่ละองค์ประกอบ ลองหาบทความวิจารณ์อื่นมาอ่านเพื่อความหลากหลาย และเพื่อพัฒนาฝีมือต่อไปนะคะ

    ตอบลบ