วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

The Lake House : ความรัก เวลา ปาฏิหาริย์



หลายครั้งในชีวิตที่เราต้องใช้ความพยายามและความตั้งใจอย่างมากเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ หลายคนพยายามไขว่คว้าหาโอกาส...หลายคนพยายามกำหนดชีวิตให้เป็นอย่างใจคิด แต่บางครั้ง...โอกาสที่ว่าก็เข้ามาพร้อมความบังเอิญ...บางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย... “มันไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว” เหมือนกับเรื่องราวความรักสุดโรแมนติกใน “The Lake House บ้านทะเลสาบ บ่มรักปาฏิหาริย์




เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ “อเล็กซ์ ไวเลอร์” สถาปนิกหนุ่มที่เพิ่งย้ายเขามาในบ้านริมทะเลสาบ ได้รับจดหมายจากหญิงสาวนาม “เคท ฟอสเตอร์” ที่บอกว่าเธอคือผู้เช่าคนก่อน และได้เล่าถึงรอยเท้าสุนัขที่สะพานหน้าบ้าน ซึ่งทำให้อเล็กซ์งงมาก เพราะเขามั่นใจว่าไม่เคยมีใครอยู่ที่บ้านหลังนี้มาก่อนเขา และก็ไม่มีรอยเท้าสุนัขที่เธออ้างถึงด้วย แต่ไม่นานนักเขาต้องตกตะลึง เมื่อมีสุนัขตัวหนึ่งวิ่งเหยียบสีที่เขากำลังทา และทิ้งรอยเท้าไว้เป็นที่ระลึกตามที่จดหมายบอกไว้ทุกประการ คำถามต่างๆผุดขึ้นในใจเขา เธอเป็นใคร เหตุใดเธอจึงสามารถบรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างถูกต้อง เขาจึงเขียนจดหมายไปหาเธอ ซึ่งในขณะนั้น เธอกำลังจะไปรับตำแหน่งแพทย์ประจำโรงพยาบาลในชิคาโก้  ไม่นานนักทั้งคู่ก็พบว่าพวกเขาอยู่ในช่วงเวลาที่ห่างกัน 2 ปี แต่เวลาที่ต่างกันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อมิตรภาพของคนทั้งสอง เพราะความสัมพันธ์ผ่านจดหมายฉบับแล้วฉบับเล่าของเขาและเธอยังคงถูกส่งผ่านตู้จดหมายที่บ้านริมทะเลสาบอยู่เสมอจนพัฒนามาเป็นความรักในที่สุด




ชื่อเรื่อง “The Lake House เป็นชื่อที่น่าสนใจ เพราะการตั้งชื่อเรื่องด้วยฉากแบบนี้ทำให้ผู้ชมคิดได้หลายแนวว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังประเภทใด อาจเป็นหนังรักโรแมนติก หนังฆาตกรรม หนังตลก หรือหนังแนววิทยาศาสตร์ก็เป็นได้ แต่แท้จริงแล้วเรื่องนี้เป็นหนังรักโรแมนติก และการที่เลือกบ้านริมทะเลสาบขึ้นมาเป็นชื่อเรื่องนั้นก็เพราะ บ้านหลังนี้เป็นสถานที่ที่ทำให้เคทและอเล็กซ์ได้มาพบกันและสานสัมพันธ์จนเกิดเป็นความรัก อีกทั้งบ้านหลังนี้ยังมีความสำคัญกับตัวละครแทบทุกตัว คือ เป็นบ้านที่พ่อของอเล็กซ์สร้างไว้ให้ภรรยา และเป็นบ้านที่ทั้งอเล็กซ์และเคทรักมาก จนกล่าวได้ว่าที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมและเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความผูกพันด้วย

หนังเรื่องนี้ได้นักแสดงชื่อดังอย่างคีนู รีฟ และ แซนดรา บูลล็อค มารับบทคู่พระนาง ซึ่งนอกจากความสวยหล่อของทั้งคู่ซึ่งเป็นเสมือนแบบฉบับพระนางของหนังรักทั่วไปจะเป็นแรงดึงดูดผู้ชมแล้ว ทั้งคู่ยังสามารถแสดงได้สมบทบาท เช่น ฉากที่อเล็กซ์ (คีนู รีฟ) ได้เจอเคท (แซนดรา บูลล็อค) ในงานวันเกิดของเคท อเล็กซ์ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ว่าเขารักเธอ เพราะเธอมีแฟนอยู่แล้วและเธอก็ยังไม่รู้จักเขา สีหน้าและแววตาของคีนู รีฟ แสดงอารมณ์ได้อย่างชัดเจนและน่าประทับใจ นอกจากนี้บทบาทของตัวละครรองก็นับว่ามีความสำคัญต่อโครงเรื่อง เช่น การที่อเล็กซ์ไม่ลงรอยกับพ่อก็ทำให้เห็นความขัดแย้งของตัวละคร หรือมอร์แกนก็เป็นคนที่ทำให้เคทกับอเล็กซ์ได้พบกัน เป็นต้น

นอกจากนี้องค์ประกอบเรื่องแสง สี เสียง ยังสัมพันธ์กับความเป็นหนังรักอีกด้วย กล่าวคือ แสงในเรื่องเน้นภาพสว่างแบบสดใส อ่อนโยน ไม่ใช่สว่างจ้า ส่วนเรื่องสี จะเห็นว่าฉากที่มีอเล็กซ์มักจะมีโทนสีเขียวร่วมอยู่ ส่วนฉากที่มีเคทจะมีสีแดงซึ่งแสดงนัยถึงความรัก ส่วนเสียงเพลงประกอบหนังที่คลอเบาๆก็มีส่วนทำให้ผู้ชมเคลิ้มไปกับเรื่องราว องค์ประกอบเหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นหลักแต่เป็นตัวช่วยที่เติมเต็มให้หนังเรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น




รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เช่น การจัดภาพ มีการใช้ภาพสะท้อนจากเงากระจก และภาพคู่ขนาน แสดงให้เห็นความพิถีพิถันของการสร้างหนัง โดยเฉพาะฤดูกาลที่แปรไปก็แฝงนัยยะเชื่อมโยงไปถึงบรรยากาศและอารมณ์ของตัวละคร เหตุการณ์ตอนต้นเรื่องเป็นฤดูหนาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเวลาที่หยุดนิ่ง ไม่มีชีวิตชีวาผู้กำกับได้ใช้ฤดูนี้แทนชีวิตของ
อเล็กซ์ที่ดำเนินไปอย่างปกติ จนเมื่อใกล้สิ้นฤดูหนาว เวลาที่หยุดนิ่งก็เริ่มเคลื่อนไหว เมื่อเขาได้เริ่มติดต่อกับเคท ถัดมาคือช่วงฤดูร้อนแห่งความสดใส เป็นช่วงเวลาที่ทั้งคู่มีความสุข จากนั้นเป็นฤดูใบไม้ร่วงที่ทั้งคู่ผิดใจกัน ปัญหาและความขัดแย้งถาโถมเข้ามาจนต่างฝ่ายต่างแยกตัวออกมา และสุดท้ายก็กลับไปจบที่ฤดูหนาว เวลาที่หยุดนิ่งอีกครั้ง แต่ต่างกันที่
คราวนี้เวลาได้มาหยุด ณ จุดที่ทั้งคู่ได้อยู่เคียงข้างกัน มาหยุด ณ เวลาที่ทั้งคู่มีความสุขอย่างแท้จริง




จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่โรแมนติกและสร้างได้ดีมาก องค์ประกอบต่างๆในเรื่องล้วนสนับสนุนและเติมเต็มหนังเรื่องนี้ได้อย่างสมบูรณ์จนน่าจะมีพลังมากพอที่จะทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังรักที่ซาบซึ้งและตรึงใจผู้ชมไว้ได้ ทว่าเรื่องราวทั้งหมดกลับถ่ายทอดออกมาได้ไม่ถึงจุดนั้น อาจเพราะด้วยจังหวะที่ราบเรียบเกินไป เช่น ตอนที่อเล็กซ์และเคทพบกันในงานวันเกิดซึ่งนับเป็นฉากสำคัญมากฉากหนึ่ง ควรเป็นฉากที่โรแมนติก กินใจผู้ชม และน่าจะทำให้ผู้ชมรู้สึกลุ้นไปด้วยว่าอเล็กซ์กับเคทจะรักกันได้หรือไม่ แต่สุดท้ายฉากนี้ก็ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ทางความรู้สึกเช่นนั้นเลย กลายเป็นอีกฉากที่เนิบช้าและไม่ได้มีความพิเศษแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เป็นข้อสงสัย คือเรื่องความสมจริง เหตุการณ์ในตอนจบ อเล็กซ์ไม่น่าจะได้พบกับเคท เพราะตามท้องเรื่อง อเล็กซ์ประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง จะเห็นได้ว่าความซับซ้อนเรื่องเวลาทำให้เกิดความสับสนและเกิดข้อสงสัยเรื่องความสมจริง แต่หากมองเรื่องนี้ตามทฤษฎีจักรวาลคู่ขนานแล้วอาจทำให้เข้าใจเรื่องได้ชัดเจนขึ้น


"ทฤษฎีจักรวาลคู่ขนาน"  เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เรามีทางเลือก 2 ทางและการเลือกของเรานั้นจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน จักรวาลคู่ขนานจึงหมายถึงจักรวาลที่ดำเนินไปพร้อมกับจักรวาลที่เราอยู่ ทุกครั้งที่พบเหตุการณ์ที่มี 2 ทางเลือก ก็จะเกิดจักรวาลคู่ขนานขึ้น 2 จักรวาล และถ้ายิ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีทางเลือกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เกิดจักรวาลคู่ขนานมากขึ้นเท่านั้น จักรวาลคู่ขนานจึงมีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน

The Lake House ใช้ทฤษฎีนี้ในการดำเนินเรื่อง เช่นเหตุการณ์ตอนต้นและตอนท้ายเรื่อง อเล็กซ์ไปหาเคทที่ลานน้ำพุ หากดูเฉพาะช่วงเวลา จะพบว่าเหตุการณ์ทั้งตอนต้นและตอนท้ายคือเหตุการณ์เดียวกัน เกิดขึ้นในวันและเวลาเดียวกัน คือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2006 แต่ที่แตกต่างกันคือสิ่งที่อเล็กซ์เลือก ในตอนต้นอเล็กซ์เลือกที่จะข้ามถนนไปหาเคท ทำให้ถูกรถชนเสียชีวิต นี่คือจักรวาลแบบหนึ่ง หรืออีกกรณีหนึ่ง หากอเล็กซ์เลือกที่จะรออีกสองปีตามที่เขียนไว้ในจดหมาย ก็จะเกิดจักรวาลอีกแบบหนึ่งที่เขาจะไม่เสียชีวิตและได้พบกับเคท ซึ่งเป็นจักรวาลแบบที่ผู้เขียนเลือก เพราะหวังให้เรื่องนี้จบแบบสุขนาฏกรรม เพื่อให้ผู้ชมซาบซึ้งกินใจและมีความสุขไปกับตัวละคร แต่การจบแบบนี้ทำให้เรื่องไม่สมจริงและไม่น่าประทับใจ หากให้อเล็กซ์เสียชีวิตน่าจะกินใจผู้ชมมากกว่านี้


 “The Lake House ตั้งแต่ต้นจนจบเหมือนจะย้ำประเด็นเกี่ยวกับการรอคอยมาตลอดว่า หากมัวแต่เฝ้ารออาจทำให้โอกาสหลุดลอยไปโดยที่เราอาจจะไม่ได้รับโอกาสนั้นอีกแล้วในชีวิต เช่น อเล็กซ์กับพ่อแม้จะห่างเหินกันแต่ทั้งคู่ก็รักกันมาก แต่ในช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันทั้งคู่กลับไม่แสดงความรักต่อกัน ไม่พยายามเข้าใจกัน จนสุดท้ายพ่อของเขาก็เสียชีวิตลง เขาไม่เคยรู้เลยว่าพ่อรักเขามากแค่ไหนจนได้มาเห็นสมุดบันทึกของพ่อที่เคทส่งมาให้ นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาเข้าใจพ่อของตัวเองอย่างแท้จริง แต่ก็สายไปเสียแล้ว

คุณเองก็เช่นกัน...อย่าพยายามเก็บคำว่า “รัก” เอาไว้ในใจ รีบหาโอกาสบอก “คนคนนั้น” ของคุณ ก่อนที่คุณจะไม่มีโอกาส

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มอม : เพื่อนตายต่างสายพันธุ์

ใครบางคนเฝ้าตามหามิตรแท้มาทั้งชีวิต มิตรแท้ในอุดมคติของใครหลายคนคือเพื่อนที่จริงใจ ยอมตายแทนกันได้ แต่บางครั้งคนเราก็มักมองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวไป ทำให้มองไม่เห็นว่ามิตรแท้ที่เฝ้าตามหานั้นอาจจะนั่งกระดิกหางอยู่ข้างๆคุณก็เป็นได้...คุณเชื่อหรือไม่ว่า “สุนัข”เป็นสหายผู้ซื่อสัตย์และผูกพันกับเจ้านายของมันมากอย่างที่คุณอาจคาดไม่ถึง

เรื่องสั้นเรื่อง "มอม" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถ่ายทอดความผูกพันระหว่างสุนัขกับเจ้านายได้อย่างชัดเจน "มอม" เป็นเรื่องที่กินใจ เหตุการณ์หลายช่วงกระทบใจผู้อ่านมาก แม้แต่คนที่ไม่เคยเลี้ยงสัตว์ก็ยังซาบซึ้งกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะผู้เขียนสร้างตัวละคร สร้างเหตุการณ์ และบรรยายความรู้สึกต่างๆได้อย่างสมบูรณ์

“มอม” เป็นเพียงเรื่องธรรมดาๆของสุนัขตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่กับนายอย่างปกติสุข จนกระทั่งวันหนึ่งที่ทั้งคู่ต้องพลัดพรากจากกันเพราะเหตุสงคราม อีกทั้งยังมีเหตุการณ์เลวร้ายมากมายที่ถาโถมเข้ามามอมสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง กลายเป็นสุนัขเร่ร่อน จนได้คนใจบุญเก็บไปเลี้ยง และบังเอิญได้พบกับนายคนเดิมอีกครั้ง เหตุบังเอิญนี้เป็นจุดสูงสุด (climax) ของเรื่อง เมื่อนายได้พบมอม นายก็ล้มเลิกความคิดที่จะเป็นขโมยและทั้งคู่ก็กลับมาอยู่ด้วยกัน เรื่องนี้ดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลาตั้งแต่มอมเกิด เติบโต พลัดพรากจากนาย ได้พบนายใหม่ และกลับไปอยู่กับนายคนเดิมอีกครั้ง แม้ว่าจะ เป็นเพียงเรื่องของมิตรภาพระหว่างชายนิรนามกับสหายสี่ขาที่ดูไม่มีอะไรซับซ้อน แต่โครงเรื่องที่เรียบง่ายเช่นนี้กลับทำให้เรื่องน่าสนใจ เพราะผู้อ่านจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละคร และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมอมกับนายอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังแสดงลักษณะนิสัยอันโดดเด่นประการหนึ่งของสุนัขก็คือความซื่อสัตย์ เพราะไม่ว่านายจะอยู่กับมอมหรือไม่ มันก็ยังคงรักนายและเชื่อฟังคำของนายเสมอ อีกทั้งเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบยังนำเสนออย่างกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ไม่ทำให้ผู้อ่านเกิดความเบื่อหน่าย นับเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเรื่อง มีเหตุการณ์บางตอนที่ผู้เขียนใช้การเกริ่นการณ์ (foreshadow) ทำให้ผู้อ่านสามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ เช่น ก่อนที่นายผู้หญิงและหนูจะตาย คืนนั้นมอมมีลางสังหรณ์ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น คือ “คืนวันหนึ่งมอมรู้สึกร้อนรนและตื่นเต้น เหมือนกับว่ามีสิ่งใดบอกมันว่าภัยกำลังใกล้เข้ามา” (หน้า 118) ตามปกติเมื่อมอมได้ยินเสียงเครื่องบินแม้ว่ามันจะตกใจกลัวแต่มันก็ไม่ได้รู้สึกร้อนรนเท่านี้

ตัวละครหลักของเรื่อง คือ สุนัขชื่อมอม มอมเป็นสุนัขที่กตัญญู เพราะเมื่อมอมไปอยู่กับคุณแต๋ว แม้ว่ามอมจะไม่ได้รักคุณแต๋วเหมือนที่มอมรักนาย แต่คุณแต๋วก็เป็นผู้ที่มีบุญคุณต่อมัน มันก็ทดแทนบุญคุณด้วยการช่วยเฝ้าบ้าน ถึงแม้ว่ามอมจะมีชีวิตที่สุขสบายเมื่ออยู่กับคุณแต๋ว แต่มอมก็ยังคงภักดีกับนายอยู่เสมอ เช่นตอนที่นายจะไปเป็นทหาร “ มอมครางออกมาเบาๆเหมือนกับจะอุทานความในใจของมันให้คนรู้ว่า ชีวิตของมอมนั้นสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วาระที่นายออกจากบ้านไป และจะเป็นอยู่เช่นนั้นจนกว่านายจะกลับมาอีก” (หน้า 110) เหตุการณ์ตอนนี้แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ของมอม นอกจากนี้มอมยังเป็นตัวละครที่เหมาะสมในการถ่ายทอดสารในประเด็นเรื่อง "ความอบอุ่นและมิตรภาพข้ามสายพันธุ์ (ที่อยู่เหนือกาลเวลา)" อีกด้วย เพราะความรักของมอมนั้นเป็นความรักที่ปราศจากเงื่อนไขใดๆ

ด้านการเล่าเรื่อง ผู้เขียนเป็นผู้เล่าเรื่องผ่านสายตาตัวละครหลักคือมอม แม้ว่าผู้เขียนจะล่วงรู้จิตใจของมอม แต่ก็จำกัดเฉพาะในมุมมองของมอมที่เป็นสุนัขจึงนับว่าสมจริง เพราะสุนัขย่อมไม่เข้าใจพฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์ เช่น "มอมสังเกตเห็นนายแต่งตัวผิดไปกว่าแต่ก่อน คือนายแต่งตัวสีกากีแกมเขียว ใส่หมวกสีเดียวกัน มีอะไรสีทองติดที่หน้าหมวก" (หน้า 107) กรณีนี้แม้ว่ามอมจะมองเห็นแต่ก็ไม่รู้ว่านายไปเป็นทหาร ยิ่งไปกว่านั้นกลวิธีการเล่าแบบนี้ยังช่วยพรรณนาความรู้สึกของมอม และสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้อ่านอีกด้วย เช่น ตอนที่มอมพบศพนายผู้หญิงและหนู "...ในที่สุดมอมก็ได้เห็นนายผู้หญิงนอนเหยียดยาวเหมือนดังหลับอยู่ใต้กองดินในหลุม หนูนอนนิ่งอยู่ในอ้อมแขนของแม่ มอมมันโจนลงไปในหลุมคร่อมนายผู้หญิงไว้ ใครเข้ามาใกล้ก็ไม่ยอม...คนทั้งโลกเป็นศัตรู คนเหล่านี้ที่ทำให้นายต้องจากไป..." (หน้า 120) หากมองผ่านมุมมองของตัวละครตัวอื่น หรือใช้กลวิธีอื่นในการเล่าผู้อ่านก็อาจจะไม่รู้สึกซาบซึ้งหรือสะเทือนใจได้ขนาดนี้ เพราะคนอ่านย่อมเข้าใจดีว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น แต่มอมไม่สามารถเข้าใจได้เหมือนมนุษย์ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเห็นใจมอม

ด้านการใช้ภาษา จะเห็นว่าผู้เขียนเลือกใช้การซ้ำคำเพื่อเน้นย้ำอารมณ์ความรู้สึก เช่น "แต่แล้วมันก็หมดแรงต้องค่อยๆตะกายกลับบ้าน บ้านที่ไม่มีเรือน บ้านที่รั้วพังจนหมดเหลือแต่ซากของประตู บ้านที่ไม่มีนาย ไม่มีนายผู้หญิง ไม่มีหนู บ้านที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเหลืออีกต่อไป (หน้า 121)" เป็นต้น และบางครั้งก็จงใจเลือกใช้คำที่เกินระดับของมอมเพื่อสร้างความขบขัน เช่น "ที่มอมปฏิสนธิได้ก็เพราะอุปัทวเหตุ" (หน้า 99) หรือ "การถ่ายปัสสาวะรดที่ตัวอื่นทำไว้แล้ว จึงเป็นอนันตริยกรรมของสุนัข อภัยให้กันไม่ได้" (หน้า 102) ส่วนโวหารในเรื่องส่วนใหญ่เป็นบรรยายโวหาร และพรรณนาโวหารซึ่งช่วยสร้างอารมณ์และจินตภาพ แต่ว่าการใช้ภาษาในเรื่องนี้ก็ไม่ได้ดีเด่นในด้านวรรณศิลป์ และไม่โดดเด่นเท่าองค์ประกอบอื่นๆ

เรื่อง“มอม” ได้จำลองภาพเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ฉากในกรุงเทพมหานคร บริเวณถนนเพชรบุรีถึงถนนราชวิถี ฉากจึงเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เรื่องดูสมจริงมาก ผู้อ่านที่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกได้มาก และหวนระลึกถึงสงครามในอดีต

องค์ประกอบทั้งหมดนำไปสู่แก่นเรื่องได้เป็นอย่างดี ในตอนท้ายที่ผู้เขียนบรรยายไว้ว่า "...ชายคนหนึ่งรูปร่างสูงผอมเสื้อผ้าขาดวิ่น เดินช้าๆอยู่ข้างถนนอย่างอ่อนระโหยโรยแรง ข้างๆตัวมีหมาตัวผู้งามตัวหนึ่ง ปากคาบกิ่งไม้ คอตั้งหางเชิดวิ่งตามเขาไปด้วยความเบิกบานสุดขีด" (หน้า 128) สะท้อนให้เห็นความรักของมอมที่มีต่อนายอย่างไม่เสื่อมคลาย เพราะความรักของมอมไม่ได้มาจาก "อารมณ์" หรือ "เหตุผล" แต่เป็นรักที่มาจาก "ความศรัทธา" มอมไม่ได้มองนายของตนเป็นเพียงเจ้านายเท่านั้น แต่นายคือชีวิต คือลมหายใจ คือทุกสิ่งทุกอย่างของมอม สัมพันธ์กับแก่นเรื่องที่ว่า "ความรักของสัตว์เลี้ยงที่มีต่อเจ้าของเป็นความรักที่ปราศจากเงื่อนไข บริสุทธิ์ ยิ่งใหญ่ และยั่งยืน" แม้ในท้ายที่สุดนายของมอมจะสูญเสียครอบครัว หรือสิ่งอันเป็นเครื่องแสดงความภาคภูมิในฐานะมนุษย์ (อย่างทรัพย์สินเงินทอง หน้าที่การงาน) ไปหมดสิ้น แต่อย่างน้อยเขาก็โชคดีที่ได้พบเพื่อนแท้ เพื่อนตายอันเป็นความสุขที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์แล้วมิใช่หรือ?